วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดอรุณ ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา วัดตั้งอยู่ตรงข้ามวัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีพระปรางค์อันงดงามประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ อันงดงามและประณีต
ประวัติวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี และได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวัง จึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชธาราม” ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้บูรณะเพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ดังที่เรียกกันปัจจุบัน
ภายในวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น
พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทย ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี
พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพมาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย พระปรางค์วัดอรุณยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่มา tourismthailand
พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณฯ
เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ เล่ากันว่าหุ่นพระพักตร์ปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่วนพระวรกายปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ฐานพระพุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกด้วย
พระวิหารหลวง
เป็นพระวิหารประธานของวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธธรรมนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2
ที่ตั้งวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ที่อยู่: 158 ถนน วังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600 ประเทศไทย
แผนที่: ดูเส้นทาง
เบอร์โทร: 02 891 2185
เว็บไซต์: ลิงค์
เวลาเปิด-ปิด:
วัน | เวลาทำการ |
---|---|
วันจันทร์ | 8:00–18:00 |
วันอังคาร | 8:00–18:00 |
วันพุธ | 8:00–18:00 |
วันพฤหัสบดี | 8:00–18:00 |
วันศุกร์ | 8:00–18:00 |
วันเสาร์ | 8:00–18:00 |
วันอาทิตย์ | 8:00–18:00 |
อาณาเขต
- ทิศเหนือ จรด โรงเรียนประถมทวีธาภิเศก
- ทิศใต้ จรด กำแพงพระราชวังเดิม
- ทิศตะวันออก จรด ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
- ทิศตะวันตก จรด ถนนอรุณอมรินทร์
การเดินทางมายังวัดอรุณฯ
- ทางเรือ สามารถนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าเตียน หลังจากนั้นนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนครมาลงท่าเรือหน้าวัดอรุณฯ
- ทางรถ จากถนนปิ่นเกล้า เลี้ยวเข้าถนนอรุณอมรินทร์ ผ่านหน้าโรงพยาบาลศิริราช ตรงมาเรื่อย ๆ ยังกรมอู่ทหารเรือ จะเห็นทางเข้าวัดอรุณฯ อยู่ถัดไปไม่ไกล
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีความสำคัญอีกด้วย